1. พื้นฐาน Living Soil, Natural Farming

5773 จำนวนผู้เข้าชม  | 

1. พื้นฐาน Living Soil, Natural Farming

พื้นฐาน Living Soil, Natural Farming


การปลูกพืชแบบ living soil หรือแปลตรงตัวว่า ดินมีชีวิต เป็นการปลูกพืชโดยใช้หลักการง่ายๆ คล้ายกับว่า "จำลองป่าไว้ในกระถาง" ซึ่งผู้เลี้ยงจะมีบทบาทในการช่วยดูแลแต่ละองค์ประกอบของระบบนิเวศน์ให้มีความอุดมสมบูรณ์อยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยใช้การเกื้อกูลกันทางธรรมชาติไม่ว่า จะทั้งจากพืช สิ่งมีชีวิต จุลินทรีย์ เชื้อรา และ แบคทีเรียที่มีประโยชน์อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงโดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมีทั้งในด้านการบำรุงต้นและป้องกันศัตรูพืช และยังสามารถใช้ดินซ้ำ หรือเพาะปลูกซ้ำบนพื้นที่เดิมได้ ทั้งสเกลเล็ก และใหญ่อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนที่แท้จริง โดยอาศัยองค์ประกอบหลักดังนี้

1.1 พืชคลุมดินและพืชที่สามารถปลูกร่วมกันหรือใกล้กันได้ (cover crops and companion plants)
โดยมักใช้พืชตระกูลถั่วที่มีแบคทีเรีย Rhizobium ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูและบำรุงไนโตรเจน เป็นส่วนหลักของ cover crops โดยอาจเสริมแทรกพืชสมุนไพรหรือดอกไม้ชนิดอื่นเพื่อช่วยไล่แมลงได้เช่น ดอกดาวเรือง โหระพา หรือแม้แต่กะเพรา

นอกจากนี้ รากของพืชคลุมดินยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นและเพิ่มความร่วนซุยให้กับหน้าดิน และยังเป็นที่อยู่สำหรับจุลินทรีย์ต่างๆอีกเช่นกัน ซึ่งนั่นแปลว่าการมีอยู่ของพืชคลุมดินน่าจะเป็นการส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณ rhizosphere ได้เป็นอย่างดี โดยเมื่อพืชคลุมดินโตมากเกินไป ยังสามารถตัดทิ้งและทิ้งไว้หน้าดินเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดได้อีกด้วย

1.2 ห่วงโซ่อาหารของชีวิตในดิน (soil food web)
สิ่งมีชีวิตต่างๆที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศน์และการดูดซึมอาหารของพืช ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น โปรโตซัว เชื้อราและแบคทีเรีย และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น soil mite, isopod และ springtail ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ขึ้นมาอย่าง ไส้เดือน ซึ่งชีวิตน้อยใหญ่เหล่านี้ถูกเรียกรวมกันว่า ‘soil food web’ ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของพืช

ทั้งในด้านการดูดซึมอาหาร และความทนทานต่อโรคพืช เนื่องจากสมาชิกของ soil food web บางส่วนจะคอยกินและยับยั้งการเติบโตของเชื้อราฝ่ายร้าย ซึ่งเป็นฝ่ายที่ทำให้เกิดโรคต่างๆในพืช รวมถึงการย่อยสลายและปลดปล่อยธาตุอาหารจากอินทรีย์วัตถุต่างๆ ทั้งในดินและหน้าดิน ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างฮิวมัสอย่างเป็นธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

เมื่อบวกกับการชอนไชของไส้เดือนที่เป็นการช่วยแพร่กระจายจุลินทรีย์และเชื้อราดีได้อย่างดีเยี่ยม ประกอบกับประโยชน์จากจุลินทรีย์ในลำไส้ของไส้เดือนที่ถือว่าเป็นจุลินทรีย์ชั้นยอด จึงทำให้ soil food web ถือเป็น 1 ใน ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการปลูกพืชอินทรีย์

1.3 การใช้ปุ๋ยหมักอินทรีย์ (compost)
ผลผลิตจากการย่อยสลายทางชีวภาพจากการซากพืชและมูลสัตว์ ซึ่งนอกจากจะมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนด้านอาหารทุกอย่างแล้ว ยังสามารถเสริมจุลินทรีย์นานาชนิดในระหว่างการหมักหรือหลังหมักเสร็จ ทำให้ปุ๋ยหมักอุดมไปด้วยธาตุอาหารหลัก-รอง จุลธาตุและจุลินทรีย์อย่างครบถ้วน สามารถใช้บำรุงดินและต้นอย่างสม่ำเสมอ หรือเรียกได้ว่าคืนชีวิตและปรับสมดุลให้กับดินอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งสำหรับแนวคิด ‘จำลองป่าไว้ในกระถาง’ การใช้ปุ๋ยหมักนี้ อาจเปรียบเสมือนการทดแทนการทับถมของซากพืชและซากสัตว์นั่นเอง

1.4 การใช้เชื้อราและจุลินทรีย์มีประโยชน์สำคัญต่อพืช (beneficial bacteria and fungi)
ทั้งในด้านการป้องกันโรค ป้องกันแมลง รวมถึงช่วยในด้านการเจริญเติบโตของพืช เช่น

เชื้อรา Trichoderma harzianum เพื่อการแก้ไขและรักษาโรคพืช
เชื้อรา Mycorrhizae เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวและอัตราในการดูดซึมอาหารของรากพืช
เชื้อรา Metarhizium anisopliae เพื่อกำจัดเพลี้ย
เชื้อรา Beauveria bassiana เพื่อกำจัดหวี่ขาว
เชื้อรา Paccilomyces lilacinus เพื่อกำจัดไรแดง
แบคทีเรีย Bacillus thuringiensi เพื่อกำจัดหนอน
แบคทีเรีย Bacillus thuringiensis var. israelensis เพื่อกำจัดตัวอ่อนแมลง
แบคทีเรีย Bacillus subtilis เพื่อการแก้ไขและรักษาโรคพืช

 

ขอขอบคุณข้อมูลต่าง ๆ จากเว๊ปไซต์ Tutorial - T-REX420

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้