2806 จำนวนผู้เข้าชม |
ประเภทของเมล็ดกัญชา และความแตกต่างระหว่าง PHOTOPERIOD, AUTO-FLOWERING
Regular Seeds เมล็ดที่สามารถเกิดเป็นตัวผู้หรือตัวเมียก็ได้ บางครั้งอาจถูกเรียกว่า เมล็ดสุ่มเพศ
Feminized Seeds เมล็ดที่ถูกทำให้เป็นเพศเมีย ต้นจากเมล็ดชนิดนี้จะเกิดเป็นเพศเมียเท่านั้น
ความแตกต่างระหว่าง PHOTOPERIOD และ AUTO-FLOWERING
Photoperiod ประเภทของเมล็ด Sativa, Indica และ Hybrid ที่ต้องใช้การปรับเปลี่ยนชั่วโมงแสงให้อยู่ที่ไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อวันเพื่อให้ต้นเริ่มออกดอก ซึ่งการปรับชั่วโมงแสงนี้เปรียบเสมือนการบอกพืชว่าฤดูกาลได้เปลี่ยนไปแล้วนั่นเอง โดยทั่วไปแล้ว photoperiod มักใช้เวลา 4-4.5 เดือนจากเมล็ดจนเก็บเกี่ยว และสามารถดัด-ตัดแต่งจัดทรงได้เต็มที่ ทำใบได้นานตามต้องการ และมีปริมาณ cannabinoids ที่สูงเข้มข้น
Auto-Flowering ผลลัพธ์ของการนำกัญชาสายพันธุ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็น Sativa, Indica, Hybrid ไปผสมกับกัญชาสายพันธุ์ Ruderalis ซึ่งเป็นกัญชาที่มีถิ่นกำเนิดส่วนใหญ่อยู่ในแถบยุโรปตะวันออกและรัสเซีย โดย Ruderalis มักมีลำต้นสูงเพียง 1-2.5 ฟุต มีวงจรชีวิตที่สั้น และออกดอกโดยไม่สนใจชั่วโมงแสง ออกดอกได้แม้ในสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจนัก แต่ก็มีปริมาณ cannabiniods ต่ำมากด้วยเช่นกัน โดย Auto-Flowering จะออกดอกโดยไม่สนใจชั่วโมงแสง และมักเริ่มทำดอกเมื่ออายุ 30-45 วัน โดยส่วนมากจะใช้เวลาจากเมล็ดจนเก็บเกี่ยวเพียง 90-100 วันเท่านั้น แต่ก็มีข้อจำกัดตามมา เช่น potency ที่ต่ำกว่า photoperiod หรืออาจไม่สามารถดัดได้เต็มที่ ไม่สามารถบังคับให้ต้นทำใบได้ยาวนานดั่งใจเหมือน เนื่องจากวงจรอายุที่สั้นนั่นเอง
เพาะเมล็ดวิธีไหนดี?
การเพาะเมล็ดมีหลายวิธี และบางวิธีก็มีหลายขั้นตอน แต่วิธีที่เราชื่นชอบและขอแนะนำนั้นง่ายมากจนแทบไม่ต้องทำอะไร นั่นก็คือ การเพาะใส่แก้วหรือกระถางขนาดเล็ก หากเป็นแก้วเจาะรูที่ก้นให้น้ำระบายออกได้ด้วย
รดน้ำลงดินหรือวัสดุเพาะให้ชุ่มฉ่ำ
ใช้นิ้วหรือหลอดเมล็ดทำหลุมเล็ก ลึกประมาณ 1-2 ซม.
นำเมล็ดลง กลบดินและรดน้ำซ้ำอีกครั้ง
จากนั้นนำแก้วหรือกระถางเพาะไว้ที่มืด ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70%
ตรวจเชคและรักษาความชุ่มชื้นของดินหรือวัสดุเพาะ โดยอาจต้องรดน้ำเพิ่มเล็กน้อยทุก 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม โดยทั่วไปแล้ววิธีนี้ต้นอ่อนจะงอกภายใน 2-5 วัน
รดน้ำบ่อยแค่ไหนดี และจะรู้ปริมาณที่เหมาะสมได้อย่างไร?
ส่วนใหญ่แล้ว วันเว้นวัน หรือ เว้นสองวัน ไม่สามารถชี้บอกตายตัวได้ บางครั้งพวกเราเว้นสามวันเลย ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมด้วยครับ ตามธรรมชาติแล้วต้นไม้พิเศษของเราชอบสภาพดินแบบ "เปียกสลับแห้ง" ฉะนั้นหลังรดน้ำไปแล้วควรปล่อยให้อย่างน้อยที่สุดสัก 1 วัน เพื่อให้รากได้หายใจและเจริญเติบโต
บ่อยครั้งที่ผลของการรดน้ำแบบผิดๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการให้น้ำมากหรือบ่อยเกินไป (overwatering) จะมาแสดงอาการป่วยในช่วงกลางหรือท้ายอายุของต้นเนื่องจากรากจมน้ำหรืออยู่ในสภาวะเปียกชื้นสะสมมาเป็นเวลานาน ซึ่งส่งผลทำให้เกิดปัญหาทางอ้อมต่างๆได้ เช่น ต้นไม่สามารถดูดซึมแคลเซี่ยมและแมกนิเซียมมาใช้ (ที่เรียกกันว่าปัญหา cal-mag) และแม้แต่การดูดซึมฟอสฟอรัสก็สามารถถูกล้อคได้เช่นกัน (phosphorus deficiency) หรือที่แย่ที่สุดคือรากเน่านั่นเอง
Auto-Flowering ควรเลี้ยงในกระถางขนาดเท่าไหร่?
ขอแนะนำที่ 7-10 แกลลอน เนื่องจาก auto-flowering เกิดจากการนำ hybrid หรือ landrace ต่างๆไปผสมเข้ากับ ruderalis ที่วงจรชีวิตที่ค่อนข้างสั้น ผลลัพธ์ที่ได้คือ auto-flowering จะมีวงจรชีวิตที่สั้นตามไปด้วย โดยจะออกดอกเองเมื่ออายุประมาณ 30 วัน และไม่สนชั่วโมงแสง ฉะนั้นการใช้กระถางใหญ่เกินไปก็จะเป็นการสิ้นเปลืองทั้งดินและน้ำโดยเปล่าประโยชน์ แต่ทางกลับกันหากใช้กระถางเล็กเกินไปก็อาจเป็นการบังคับให้ต้นทำดอกก่อนกำหนดได้เช่นกัน
ปลูกอินทรีย์ 100% สามารถทำให้ต้นใหญ่ได้หรือไม่?
การปลูกอินทรีย์ 100% สามารถทำให้ต้นใหญ่ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องใช้ขนาดกระถางที่ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้มีเนื้อที่เพียงพอต่อทุกชีวิตและองค์ประกอบของระบบนิเวศน์ในดิน เมื่อต้นมีขนาดใหญ่ รากจะกินพื้นที่มากขึ้น ขนาดกระถางจึงควรใหญ่ตาม เพื่อรักษาสมดุลของชีวิตในดินไว้ให้ได้ดีนั่นเอง
การใช้ดินซ้ำ
สำหรับการปลูกอย่างอินทรีย์ครบวงจรด้วย T-REX Super Soil นั้น หากมีการดูแลสภาพหน้าดินและชีวิตในดินให้มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ในสภาพที่เหมาะสมตลอดฤดูกาลปลูก เช่น มีการใส่ปุ๋ยหมักตามช่วงอายุอย่างเหมาะสม มีการปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน มีไส้เดือน รวมถึงมีการทิ้งเศษซากใบไว้หน้าดิน การนำดินมาใช้ซ้ำก็เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากนัก เพียงแค่การเติมปุ๋ยหมัก Bloom Booster และปลูกพืชคลุมดินใหม่หลังเก็บเกี่ยวก็เป็นอันใช้ได้ โดยอาจเสริมด้วยการรดน้ำหมักต่างๆในระหว่างช่วงที่ปลูกพืชคุลมดินรอบใหม่ไปพร้อมกันได้อีกด้วย
ปลูก 1 ต้น ใช้ดินเท่าไหร่?
อันดับแรกต้องดูกันที่ประเภทของเมล็ดว่าเป็น autoflowering หรือ photoperiod ครับ หากเป็น autoflowering เราขอแนะนำที่ 5-7 แกลลอน เนื่องด้วยวงจรอายุที่ค่อนข้างสั้น จึงไม่มีประโยชน์ที่จะใช้กระถางใหญ่มากเกินไป แต่การใช้กระถางเล็กเกินไป ก็อาจทำให้ autoflowering ออกดอกเร็วกว่าที่ควรจะเป็นได้ด้วยเช่นกัน ส่วนในกรณีของ photoperiod นั้นจะค่อนข้างยืดหยุ่นตามความต้องการของและเทคนิคของผู้ปลูกเอง เช่นตั้งแต่ 3-100 แกลลอน ก็สามารถทำได้โดยไม่มีปัญหา แต่โดยทั่วไปแล้วสำหรับ homegrown แล้วมักอยู่ที่ 5-10 แกลลอนครับ
ความสำคัญของพืชคลุมดิน
การปลูกพืชคุลมดิน หรือ Cover Cropping ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการปลูกพืชอินทรีย์อย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถทำได้เลยในขั้นตอนเตรียมดินในกระถางจริง ระหว่างเพาะหรือเลี้ยงต้นกล้า นอกจากประโยชน์มากมายแล้วทั้งยังเป็นการช่วยให้เราได้เห็นถึงความสำคัญและความเป็นไปของระบบนิเวศที่ดีด้วยวิธีง่ายๆ โดยพืชที่นิยมนำมาปลูกเป็นพืชคลุมดินนั้นควรเป็นพืชตระกูลถั่ว เช่น ปอ หรือ โคลเวอร์ เนื่องจากหาง่าย ปลูกง่าย ทั้งยังมีราคาไม่แพง และด้วยความสามารถของแบคทีเรีย ไรโซเบียม ที่อาศัยอยู่บริเวณปมรากของพืชตระกูลถั่วทุกชนิดนั้นมีคุณสมบัติในการจับตรึงไนโตรเจนในอากาศมาแปลงเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่พืชดูดซึมได้
การปลูกพืชคลุมดินลักษณะนี้สามารถทำได้ทั้งปลูกร่วมไปกับพืชหรือปลูกและไถกลบหลังการเก็บเกี่ยว นอกจากประโยชน์ด้านไนโตรเจนแล้ว รากของพืชคลุมดินยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้หน้าดิน ช่วยให้ดินมีความโปร่ง มีอากาศมากขึ้น และยังเป็นที่อยู่ของเชื้อราดีอื่นๆ เช่น ไมโคไรซ่า เมื่อบวกกับการชอนไชและการย่อยสลายเศษซากพืชคลุมดินของไส้เดือน นอกจากจะเป็นการสร้างฮิวมัสอย่างดีแล้ว ยังทำให้บริเวณรากที่มีจุลินทรีย์อาศัยอยู่ และมีการพึ่งพากันระหว่างพืชกับจุลินทรีย์ หรือ rhizosphere เกิดวงจรการแลกเปลี่ยนทางชีวภาพระหว่างพืชกับจุลินทรีย์อย่างมากมายและสมบูรณ์อีกด้วย
ไส้เดือนช่วยอะไรบ้าง?
ไส้เดือน หรือ Earthworms นับเป็นกองกำลังสำคัญที่จะช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุในดิน รวมถึงซากของพืชคุลมดิน โดยจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้และน้ำย่อยของไส้เดือนดินจะช่วยเปลี่ยนธาตุอาหารหลายชนิดให้พืชสามารถนำไปใช้ได้ การชอนไชของไส้เดือนจะทำให้ดินโปร่งร่วนซุยยิ่งขึ้น ช่วยให้เกิดช่องว่างให้ในดินทำให้รากชอนไชได้ดี นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยคลุกเคล้าแพร่กระจายจุลินทรีย์และเชื้อราที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เช่น ไมคอร์ไรซ่า ไรโซเบียม รวมถึงเมทาไรเซียม
ไส้เดือนดินแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
ไส้เดือนดินสีแดง คือ ไส้เดือนที่อาศัยอยู่บนบริเวณหน้าดินที่อุดมไปด้วยอินทรีย์วัตถุและมีความชุ่มชื้นตลอดปี กินเก่งและขยายพันธุ์เร็ว เป็นกลุ่มไส้เดือนที่เหมาะกับการใช้ย่อยสลายขยะอินทรีย์หรือผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน เช่นสายพันธุ์ African night crawler, Tiger, Blue worms และ Red worms
ไส้เดือนดินสีเทา คือ ไส้เดือนที่อาศัยอยู่ในดินชั้นบนและชั้นล่าง มีขนาดใหญ่กว่าไส้เดือนที่อาศัยอยู่บนผิวดิน แพร่พันธุ์ได้ช้าและน้อยมาก มีการพักตัวช่วงหน้าแล้ง ไส้เดือนกลุ่มนี้ไม่เหมาะต่อการใช้ย่อยสลายขยะอินทรีย์
สายพันธุ์ไส้เดือนที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย
ขี้ตาแร่ ไส้เดือนสายพันธุ์ไทย กินเก่งและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว มีลักษณะคล้ายแอฟริกัน ไนท์ครอว์เลอร์แต่ตัวเล็กกว่า หาได้ง่ายเนื่องจากเป็นใส้เดือนท้องถิ่น
African Night Crawler หรือ AF ไส้เดือนเขตร้อน กินเก่งมาก ขยายพันธุ์เร็ว มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีความสามารถในการย่อยสลายอินทรียวัตถุได้อย่างรวดเร็ว
Tiger Worm ไส้เดือนเขตอบอุ่น มีลายเสือ ตัวสั้นป้อม กินเก่งและขยายพันธุ์ได้เร็ว ทนสภาพอากาศเย็นได้ดี
Blue Worm ไส้เดือนเขตร้อนที่สามารถพบได้ทั่วทวีปเอเชีย ขนาดตัวค่อนข้างเล็ก กินเก่ง ลูกดกและขยายพันธุ์เร็ว นอกจากเมือกที่ถูกขับออกมาจากลำตัวจะมีกลิ่นหอมแล้ว ยังมีฤทธิ์ในการกำจัดเชื้อราที่ผลิตสารพิษอะฟลาทอกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย
SST คืออะไร?
SST หรือ Sprouted Seeds Tea คือการใช้ประโยชน์จากเอนไซม์ธรรมชาติที่มีอยู่ในเมล็ดพันธุ์พืชนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น ข้าวบาร์เลย์, ข้าวโพด และพืชตระกูลถั่ว โดยเอนไซม์เหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญทั้งด้านการเจริญเติบโต โดยที่ส่วนหนึ่งจะมีหน้าที่ในการช่วยจับตรึง-ดูดซึมธาตุอาหารส่วนที่ดูดซึมได้ยากหรือใช้เวลานาน ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะมีบทบาทด้านการเสริมภูมิคุ้มกันและความทนทานต่อโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราและแมลงหลากหลายชนิด
Malted Barley Grain เมล็ดข้าวบาร์เลย์อุดมไปด้วยเอนไซม์นานาชนิด โดยเฉพาะไคติเนส (chitinase) ที่เป็นตัวย่อยสลายไคติน (chitin) ซึ่งนอกจากไคตินจะเป็นส่วนสำคัญในการลอกคราบของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอย่างกุ้งและปูแล้ว ไคตินยังเป็นส่วนประกอบหลักของเชื้อราที่ให้โทษ และแมลงศัตรูพืชหลากหลายชนิดอีกด้วย
โดยเมื่อพืชได้รับเอนไซม์ แบคทีเรียฝ่ายดีจะใช้เอนไซม์ไคติเนสในการย่อยสลายไคตินเพื่อมาใช้เป็นพลังงาน และด้วยวิธีนี้เองที่จะทำให้พืชสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคและแมลงบางชนิดได้ด้วยตัวเองโดยการผลิตเอนไซม์ไคติเนสออกมาอยู่ในส่วนต่างๆของตัวพืชและมีหน้าที่สำคัญคือสามารถยับยั้งโรคพืชชนิดต่างๆ และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราให้โทษ นอกจากนี้เอนไซม์อื่นๆยังมีบทบาทสำคัญในการเจริญเติบโตของพืชโดยทำงานในลักษณะเหมือนกรงเล็บที่คอยจับธาตุอาหารที่ดูดซึมได้ยากหรือต้องใช้เวลานานให้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
วิธีทำ SST
นำเมล็ดจำนวน 2 ออนซ์ ไปแช่น้ำสะอาดประมาณ 8 ชั่วโมง ในตอนแรกจะสังเกตุได้ว่า อาจมีเมล็ดบางส่วนที่ไม่จมน้ำ เมื่อผ่านไปครบ 8 ชั่วโมงแล้ว แตะเมล็ดบางส่วนที่ลอยอยู่ จะพบว่าส่วนมากจะจมน้ำไป จากนั้นให้ตักนำเมล็ดและเศษเปลือกที่ลอยอยู่ผิวน้ำทิ้งได้เลย
ล้างด้วยน้ำสะอาด โดยพรมน้ำเช้า-เย็น เมื่อผ่านไป 24-72 ชั่วโมง จะสังเกตุเห็นรากงอก โดยรากมีความยาวพอๆกับตัวเมล็ดถือว่าเป็นอันใช้ได้
นำเมล็ดเหล่านี้ไปปั่นและผสมกับน้ำสะอาด 20 ลิตรจากนั้นสามารถใช้รดได้ทันที และควรใช้ให้หมดในครั้งเดียว
***ในกรณีที่ต้องการนำไปเป่าอ๊อกซิเจนร่วมกับน้ำหมักอื่น ห้ามทำเกิน 4 ชั่วโมง มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายต่อพืชได้ วิธีนี้แนะนำสำหรับผู้มีประสบการณ์เท่านั้น*
ขอขอบคุณข้อมูลต่าง ๆ จากเว๊ปไซต์ Tutorial - T-REX420 (https://www.trex420.com/pages/tutorial)